เปิดตัว “วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก อะคาเดมี” พัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟเอเชีย

อาร์แอนด์เอ ร่วมมือกับ เอพีจีซี หรือสมาพันธ์กอล์ฟเอเชีย-แปซิฟิก เปิดตัว “วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก อะคาเดมี” อย่างเป็นทางการ เพื่อพัฒนาศักยภาพนักกอล์ฟในภูมิภาคเอเชียสู่เวทีระดับโลก

(ภาพ: Getty Images)

อะคาเดมีได้รับทุนสนับสนุนจากซัมซุงและมูลนิธิกอล์ฟอาร์แอนด์เอ เพื่อต่อยอดความสำเร็จจากการจัดการแข่งขันกอล์ฟสมัครเล่นสตรีระดับแนวหน้าของภูมิภาครายการ วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี 2018 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเป็นเวทีที่มอบโอกาสเปลี่ยนชีวิตให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นหญิงชั้นนำของเอเชีย โดยให้สิทธิ์แชมป์เข้าร่วมแข่งขันรายการใหญ่ระดับเมเจอร์ 3 รายการ
 

โดยนักกอล์ฟสมัครเล่นในเอเชียจะได้รับเชิญร่วมโปรแกรม “วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก อะคาเดมี” เป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งมีผู้ฝึกสอนกอล์ฟระดับแนวหน้าของโลกและผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย นักจิตวิทยาการกีฬา เป็นผู้ฝึกสอนให้คำแนะนำ มีการนำเทคโนโลยีไบโอตริกมาใช้ในการวัดและวิเคราะห์ข้อมูลลักษณะทางชีวภาพและสรีรวิทยา เพื่อปรับแต่งระบบการฝึก รวมถึงเทคนิคการสวิงและเทคนิคการเล่นลูกสั้น ซึ่งนักกอล์ฟกลุ่มแรกได้เข้าร่วมกิจกรรมที่สนามสยามคันทรีคลับในประเทศไทย เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว
 

โดมินิก วอลล์ ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิค อาร์แอนด์เอ เผยว่า "การพัฒนากีฬากอล์ฟในประเทศต่างๆ ทั่วโลกคือเป้าหมายหลักของเรา ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนนักกอล์ฟระดับเยาวชนในการพัฒนาศักยภาพเกมกอล์ฟโดยการมอบโอกาสในการฝึกฝนทักษะให้กับพวกเขาเพิ่มมากขึ้นทั้งในและนอกสนาม”
 

“การเข้าถึงสภาพแวดล้อมของการฝึกสอนระดับโลกในบางประเทศอาจเป็นเรื่องยาก ดังนั้นการก่อตั้ง วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก อะคาเดมี จึงเป็นก้าวสำคัญในการการันตีว่านักกอล์ฟสามารถเข้าถึงการฝึกสอนและได้รับการแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญและโค้ชระดับชั้นนำของโลกได้อย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาความสามารถด้านกีฬา ร่างกาย และจิตใจ ซึ่งเราได้เห็นประโยชน์ของอะคาเดมีแล้วเมื่อมีนักกอล์ฟสมัครเล่นระดับท็อปเท็นของโลก 2 คน เข้าร่วมโปรแกรมการฝึกฝนด้วย”
 

“ขอขอบคุณซัมซุงและมูลนิธิกอล์ฟอาร์แอนด์เอที่ให้การสนับสนุน วีเมนส์ อเมเจอร์ เอเชีย-แปซิฟิก อะคาเดมี และขอบคุณสนามกอล์ฟสยามคันทรีคลับสำหรับการร่วมมือกันครั้งแรก รวมถึงโค้ชทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการริเริ่มโครงการนี้”    
 

สำหรับการจัดอะคาเดมีครั้งแรกที่สนามสยามคันทรีคลับ ประสบความสำเร็จด้วยดี มีนักกอล์ฟเข้าร่วม 13 คน รวมถึงนักกอล์ฟสมัครเล่นอันดับ 3 และ 4 ของโลกอย่าง มิราเบล ถิง จากมาเลเซีย และริแอนน์ มาลิซี่ จากฟิลิปปินส์ ซึ่งได้รับประโยชน์ด้านต่างๆ ของเกมกอล์ฟมากมาย จากการเข้าร่วมโปรแกรมฝึกสอนกอล์ฟระดับโลกในระยะเวลา 1 สัปดาห์
 

มาลิซี่ แชมป์ยูเอส วีเมนส์ อเมเจอร์ และยูเอส เกิร์ล จูเนียร์ อเมเจอร์ แชมเปี้ยนชิพ เมื่อปีที่แล้ว กล่าวว่า “โปรแกรมนี้ช่วยให้เราทำผลงานได้ดีขึ้น เพราะเราได้เรียนรู้มากมายจากการเข้าร่วมอะคาเดมี การเข้าร่วมจะช่วยให้เราพัฒนาในฐานะนักกอล์ฟและในฐานะบุคคล เราสามารถนำบทเรียนที่เราได้ไปปรับใช้กับการแข่งขันในสนาม”
 

นักกอล์ฟสมัครเล่นคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมอะคาเดมีเมื่อปีที่แล้วยังมี จูเลีย กาบาซ่า และเกรซ ควินตานิญ่า สองเพื่อนร่วมชาติของมาลิซี่ รวมถึง เหงียน เวียต ไก ฮัน, อัน เลอ ชุค และแอนนา เลอ สามนักกอล์ฟเวียดนาม, ซาร่า อานันด์ และมานนัต บราร์ จากอินเดีย, เจมี่ คาเมโร่ และอินทิสซาร์ ริช จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, ปาร์กา อิจาซ จากปากีสถาน และเทีย เจสซิก้า ตัน จากอินโดนีเซีย
 

โดย ปาร์กา อิจาซ จากปากีสถาน กล่าวถึงการเข้าร่วมอะคาเดมีว่า “ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีจริงๆ และรู้สึกซาบซึ้งมากที่ได้รับโอกาสนี้ โค้ชผู้ฝึกสอนเก่งมาก พวกเขาสอนเราเกี่ยวกับการวางแผนการเล่นในสนามและการจัดการต่างๆ รวมถึงวิธีเตรียมร่างกายก่อนการแข่งขัน
 

ด้านแกเร็ธ โจนส์ หัวหน้าโค้ชทีมชาติญี่ปุ่น หนึ่งในผู้ฝึกสอนระดับชั้นนำของอะคาเดมีกล่าวว่า “มีหลายประเทศที่มีโปรแกรมการฝึกสอนขั้นสูง แต่การนำข้อมูลการฝึกสอน เทคโนโลยี และทรัพยากรที่อาร์แอนด์เอรวบรวมมาได้ จะช่วยประเทศสมาชิกของเราที่อยู่อีกระดับหนึ่ง พัฒนาไปสู่ระดับสูงสุดได้สำเร็จ”
 

ขณะที่ “โปรอุ๋ย” วิรดา นิราพาธพงศ์พร อดีตแชมป์ยูเอส วีเมนส์ อเมเจอร์ ซึ่งเป็นโค้ชและที่ปรึกษาให้กับนักกอล์ฟดาวรุ่งชั้นนำในหลายประเทศ ก็เข้าร่วมเป็นผู้ฝึกสอนของอะคาเดมีด้วยเช่นกัน โดยกล่าวเสริมว่า “รู้สึกยินดีที่ได้เห็นเด็กสาว 13 คน จากทั่วโลกเดินทางมารวมตัวกันเข้าร่วมโปรแกรมอะคาเดมีที่นี่  มีการแลกเปลี่ยน การสร้างสัมพันธไมตรี การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในการเรียนรู้ คิดว่าทุกคนได้เรียนรู้จากกันและกันจริงๆ เป็นกลุ่มนักกอล์ฟที่ยอดเยี่ยมและเป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการจัดอะคาเดมีแบบนี้อีกมากมายในอนาคต”
 

No comments yet
ความคิดเห็น

คุณอาจชอบ

บทความล่าสุด

อ่านต่อ >>>

^