นักกอล์ฟที่ไม่อยากเป็นเก๊าท์ต้องอ่าน



นักกอล์ฟที่ไม่อยากเป็นเก๊าท์ต้องอ่าน

        โรคเก๊าท์เป็นอีกโรคที่อยู่คู่กับนักกอล์ฟมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกิดขึ้นจากความผิดปกติของขบวนการเมตาบอลิซึมของสารพิวรีน ส่งผลให้เกิดภาวะการสะสมของกรดยูริกมากขึ้น และทำให้ระดับกรดยูริกในเลือกมีค่าสูงขึ้น

        และจะมีการตกผลึกของเกลือยูเรตภายในข้อ ส่งผลให้เกิดการอักเสบของข้อในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เกลือยูเรตจะทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อสลายตัว ข้อจะเกิดความเสียหายในระยะต่อไป ซึ่งโรคเก๊าท์นี้จะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ในอัตราส่วน 20 ต่อ 1


        ข้อที่เกิดโรคเก๊าท์จะมีอาการปวด บวม แดง ร้อน จะรู้สึกเจ็บเวลาเคลื่อนไหว ข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้าจะเกิดการอักเสบมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาจะเกิดที่ข้อเท้า สันเท้า ข้อเข่า ข้อมือ ข้อนิ้ว และข้อศอก ตามลำดับ
สารพิวรีนเกิดขึ้นจากการสังเคราะห์ขึ้นในร่างกายและอาหารที่ทานเข้าไป หลักๆที่ทุกคนรู้ก็คืออาหารประเภทสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ยอดอ่อนของผัก เหล้าและเบียร์ หากจัดลำดับอาหารที่มีสารพิวรีนจากมากไปหาน้อย ก็จะจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้

        1. อาหารที่มีสารพิวรีนมาก นักกอล์ฟที่เป็นโรคเก๊าท์ไม่ควรรับประทาน ได้แก่ เนื้อเป็ด ไก่ นก ตับ ไต น้ำต้มเนื้อ น้ำเกาเหลา ปลาไส้ตัน น้ำปลา กะปิจากปลาไส้ตัน ปลาซาร์ดีน ยีสต์ อาหารที่หมักจากยีสต์อย่างเบียร์ หอยเชลล์ ปลาทู ปลารัง ไข่ปลา

        2. อาหารที่มีสารพิวรีนปานกลาง นักกกอล์ฟที่เป็นโรคเก๊าท์สามารถรับประทานได้ในปริมาณจำกัด เช่น เนื้อวัว กระเพาะ ผ้าขี้ริ้ว เอ็น เนื้อหมู เนื้อปลา ปู กุ้ง หอย ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง ถั่วเขียว ฟัก หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม เห็ด ดอกกระหล่ำ ชะอม กระถิน

        3. อาหารที่มีสารพิวรีนน้อยหรือเกือบไม่มีเลย นักกอล์ฟสามารถทานได้ตามปกติ ได้แก่ ข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยวทุกชนิด ขนมปังปอนด์ มักกะโรนี ข้าวโพด ไข่ นม เนยแข็ง ไอศครีม น้ำมัน น้ำมันพืช กะทิ เนย ผักผลไม้ทุกชนิด เกาลัด เม็ดมะม่วงหิมพานต์ ทองหยิน ทองหยอด ฝอยทอง เค้ก คุกกี้ เครื่องดื่มชา กาแฟ โกโก้ ช็อคโกแลต เป็นต้น


        ถ้าคิดแบบขำๆ โรคเก๊าท์นั้นจะเกิดขึ้นเฉพาะนักกอล์ฟที่กินดีอยู่ดีเท่านั้น แต่ทางที่ดีนักกอล์ฟควรบริโภคอาหารแต่พอดี หมั่นออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เดี๋ยวจะมาบ่นโอดโอยว่าปวดนั่นปวดนี้ เสียเงินหาหมอเยอะแยะ สุขภาพจิตจะแย่ตามไปด้วย
โดย พลตรีนายแพทย์ สมศักดิ์ เถกิงเกียรติ
No comments yet
ความคิดเห็น

คุณอาจชอบ

^