แรงบีบที่ใช้ในการจับกริปต่อการพัตต์
แรงบีบที่ใช้ในการจับกริปต่อการพัตต์
สำหรับท่านผู้อ่านหรือท่านนักกอล์ฟที่มีปัญหาในเรื่องการพัตต์ และกำลังหาวิธีที่จะพัฒนาเกมกอล์ฟโดยเฉพาะ “เรื่องบนกรีน” หรือ “เกมการพัตต์” นั้น ผมอยากให้ท่านนักกอล์ฟลองตรวจสอบวิธีการพัตต์ของท่านว่ามีปัญหาที่จุดนี้ หรือไม่ โดยวันนี้ บทเรียนที่ผมจะขอพูดถึง คือ เรื่อง แรงบีบในการพัตต์ หรือ Grip Pressureครับ
ในการจับไม้พัตต์ (Putter) ก่อนอื่นท่านนักกอล์ฟต้องท่องให้ขึ้นใจว่า หน้าที่หลักของ “มือ” ในการเล่นกอล์ฟก็คือ “การจับอุปกรณ์” ขณะที่หน้าที่ของ “หัวไหล่” ก็คือ “การแกว่ง หรือ สโตรคลูก” เพื่อให้เกิดแรงเหวี่ยงเป็นแบ็คสวิง ฟอลโลว์ทรูสวิง ซึ่งในพูดถึงหลักการนั้นง่ายมากครับ แต่ในการปฏิบัตินั้นมีอีกหลายปัจจัยที่เราต้องคำนึงถึง
แรงบีบที่ใช้ในการจับกริปต่อการพัตต์
นอกเหนือจาก ปัจจัยเรื่องมือและหัวไหล่แล้ว การสโตรคลูกที่ดีควรมาจากแรงบีบในการจับกริปที่สม่ำเสมอ ซึ่งผมขออนุญาตยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นครับ …
ครั้งหนึ่ง Tiger Woods มีปัญหาเกี่ยวกับการพัตต์มาก เขาพยายามที่จะพัฒนาเกมการพัตต์ของเขา ด้วยการค้นหาว่า แรงบีบที่เหมาะสมในการจับกริปนั้นควรจะเป็นเท่าไหร่ โดยสิ่งที่ Tiger ทำเป็นอันดับแรกก็คือ เขาเข้าไปถาม Ben Crenshaw นักกอล์ฟที่ถือว่ามีทักษะการพัตต์ยอดเยี่ยมที่สุดในยุคทศวรรษที่ 70-80 เลยทีเดียว
เมื่อถูกถาม Ben ก็ให้คำตอบกับ Tiger ว่า สำหรับแรงบีบในการจับกริปนั้น หากจัดระดับของแรงบีบจาก 1 ถึง 10 (โดย ระดับที่ 1 คือ บีบเบาสุด ระดับที่ 10 บีบแน่นที่สุด) Ben Crenshaw บอกว่า ตัวเขาเองใช้แรงบีบที่ประมาณระดับที่ 3 หลังจากได้คำตอบ Tiger ก็บากหน้าไปถามเรื่องแรงบีบในการจับกริปจาก Jack Nicklaus ต่อ โดย Nicklaus เจ้าของฉายา “The Golden Bear” ก็ตอบ Tiger ไปว่า หากวัดระดับแรงบีบระหว่างระดับ 1 ถึง 10 แล้ว ตัวเขาเองใช้ระดับแรงบีบที่ประมาณระดับ 4
แรงบีบที่ใช้ในการจับกริปต่อการพัตต์
เมื่อได้รับคำตอบจาก 2 ผู้อาวุโสแห่งวงการกอล์ฟแล้ว Tiger ก็นำข้อมูลที่ได้ไปปรับให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสไตล์การเล่นของตัวเอง ทั้งนี้ เนื่องจาก Tiger เป็นคนหนุ่มที่มีร่างกายที่แข็งแรงมีรูปแบบการเล่นที่ดุดัน ดังนั้นแรงบีบในมือของเขาในขณะทำการจับกริป จึงมีมากกว่าทั้ง Ben Crenshaw และ Jack Nicklaus ซึ่งเมื่อสรุปออกมาแล้ว Tiger ใช้แรงบีบที่ประมาณระดับ 5
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องของแรงบีบสำหรับการนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า การบีบเบาหรือแรง เท่าไร เพราะDave Pelz ปรมาจารย์ของลูกสั้นอีกท่านหนึ่งได้บอกไว้ครับว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับแรงบีบในการพัตต์ก็คือ การใช้แรงบีบกริปที่สม่ำเสมอตลอดการทำงานของหน้าพัตเตอร์ นั่นคือใช้แรงบีบที่เท่ากันตั้งแต่การแบ็คสวิงจนถึงฟอลโลว์ทรูสวิง เพราะ ปัญหาของท่านนักกอล์ฟหลายท่านคือ ณ จุดปะทะกับลูก ท่านมักจะบีบกริปให้แรงขึ้นโดยอัตโนมัติ
แรงบีบที่ใช้ในการจับกริปต่อการพัตต์
เมื่อทราบทริกเกี่ยวกับ แรงบีบกริปสำหรับการพัตต์ และนำไปฝึกฝนอย่างต่อเนื่องแล้ว รับรองครับว่าผลงานในการพัตต์ของท่านนักกอล์ฟดีขึ้นแน่นอนครับ ทั้งนี้ก่อนนำไปปฎิบัติในสนามกอล์ฟจริง ลองหาพื้นที่เพื่อทำการฝึกซ้อมให้คล่องแคล่วก่อนนะครับ